วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555


ขอบข่ายของการศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์.

             การศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ควรจะต้องมีการนำเอาความรู้จากศาสตร์สาขาอื่น ๆ เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ในเรื่องของการบริหารงาน เพราะศาสตร์สาขาอื่น ๆ มีความก้าวหน้าเพียงพอที่จะช่วยให้วิชารัฐประศาสนศาสตร์มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในการศึกษา โดยเฉพาะเมื่อได้นำเอาความรู้มาจากศาสตร์ที่แตกต่างกัน เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์บริหารธุรกิจ หรือสังคมวิทยา มาประยุกต์ใช้ก็จะทำให้ผู้ศึกษาสามารถมีข้อมูลที่มากขึ้นเพื่อทำการตัดสินใจและหาวิธีทางที่ทำให้ สามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ โดยได้มีนักวิชาการทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ได้กล่าวถึงศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทางรัฐประศาสนศาสตร์ไว้อย่างครอบคลุม ดังนี้
             กมล อดุลพันธ์ (2538, หน้า 32-37) เห็นว่า ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มีดังต่อไปนี้
             1. สาขาวิชารัฐศาสตร์ วิชารัฐศาสตร์และวิชารัฐประศาสนศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะวิชารัฐประศาสนศาสตร์มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาถึงการส่งเสริมให้มีการบริหารงานเป็นไปตามนโยบายของรัฐที่กำหนดไว้ กล่าวคือ วิชารัฐศาสตร์จะถูกใช้โดยฝ่ายปกครองหรือฝ่ายการเมือง ส่วนวิชารัฐประศาสนศาสตร์จะถูกใช้โดยฝ่ายข้าราชการ แต่ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการแก่ประชาชน สามารถเข้าใจได้ว่าการศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ โดยปราศจากการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ดูจะเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำให้การศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์มีความสมบรูณ์
             2. สาขาวิชานิติศาสตร์ ในการบริหารงานบ้านเมืองมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมาปกครองประเทศ ทั้งนี้ เพื่อรองรับการกระทำของประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ การบริหารงานบ้านเมืองที่ดีนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยหลักนิติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานได้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องชัดเจนและไม่เกิดข้อผิดพลาด สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างวิชานิติศาสตร์กับวิชารัฐประศาสนศาสตร์ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน คือ การที่นักรัฐประศาสนศาสตร์หรือข้าราชการจำต้องมีหลักนิติศาสตร์ในการบริหารงานอยู่เสมอเพราะในการปฏิบัติราชการนั้น ข้าราชการจะต้องยึดกฎระเบียบ ข้อบังคับตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการปฏิบัติราชการตามนโยบาย ระเบียบแบบแผนและคำสั่งต่าง ๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการแต่การสั่งการจะต้องไม่ขัดต่อข้อกฎหมายของประเทศ
             3. สาขาวิชาบริหารธุรกิจ ดังที่กล่าวแล้ววิชารัฐประศาสนศาสตร์กับวิชาบริหารธุรกิจมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำศาสตร์ทางสาขาวิชาบริหารธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานภาครัฐศาสตร์ในการทางบริหารธุรกิจได้อธิบายถึงความเป็นจริงในการบริหารงานได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง โดยเฉพาะการให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ภายในองค์การ เทคนิคการบริหาร การวางแผนการปฏิบัติงาน การจัดระเบียบภายในองค์การหรือแม้กระทั่งการควบคุมงบการเงิน เป็นต้นจึงเป็นสิ่งที่ดีที่ผู้ศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์จะได้นำความรู้ เทคนิค ข้อมูลใหม่ ๆ มาทำการศึกษาวิเคราะห์และปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับการบริหารภาครัฐอิทธิพลของศาสตร์ทางการบริหารธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทในการปรับปรุงหลักการบริหารงานภาครัฐ โดยเฉพาะหลักการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ (scientific management) ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการในองค์การได้ดำเนินการไปตามแบบพลวัต (dynamic group) โดยอาศัยความร่วมมือในการปฏิบัติงานจากบุคลากรภายในองค์การเป็นสำคัญ
             4. สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม การบริหารงานภายในองค์การไม่สามารถหลีกเลี่ยงการบริหารมนุษย์ได้ ทฤษฎีจิตวิทยาสังคมมีส่วนสำคัญในการให้ความรู้ความเข้าใจของนักรัฐประศาสนศาสตร์ในเรื่องของการทำความเข้าใจต่อผู้ปฏิบัติงานซึ่งอยู่ในฐานะผู้ร่วมองค์การเดียวกัน วิชาจิตวิทยาสังคมจะช่วยให้ทราบถึงแนวทางการศึกษาเรื่องคนของแต่ละคน เช่น ลักษณะของความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานภายในองค์การ การดูพื้นฐานภูมิหลังของแต่ละคน หรือแม้กระทั่งการดูความปกติและความผิดปกติของแต่ละบุคคลในองค์การ การศึกษาพฤติกรรมของคนในองค์การจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถทำความเข้าใจต่อสภาพของบุคคลภายในองค์การได้ เพื่อที่ผู้บริหารจะสามารถหาวิธีการใด ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
             5. สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างวิชาเศรษฐศาสตร์และวิชารัฐประศาสนศาสตร์มีส่วนเกี่ยวข้องในส่วนของการวางแผนพัฒนาประเทศ โดยที่นักรัฐประศาสนศาสตร์จะต้องมีความรู้ทางด้านสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมากเพราะเป็นสาขาวิชาที่ทำให้เกิดการวางแผนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของประเทศ
             6. สาขาวิชาตรรกวิทยา สาขาวิชาตรรกวิทยาเป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาเพื่อหาเหตุและผลตามความจริงที่ปรากฏขึ้น การบริหารนั้นจำต้องมีการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ โดยการตัดสินใจในแต่ละครั้งจะใช้ความเป็นเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ทราบได้เข้ามามีส่วนช่วยในการตัดสินใจ การตัดสินใจโดยการใช้อารมณ์หรือความเชื่อควรเป็นสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงเพราะการตัดสินใจด้วยความเชื่อหรือใช้อารมณ์เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและไม่เป็นที่รับรู้ชัดเจนของบุคคลโดยทั่วไป สำหรับการตัดสินใจทางตรรกวิทยาจะมีส่วนทำให้ลดการสูญเสียของทรัพยากรบริหารและสามารถเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ร่วมงานได้
             7. สาขาวิชาสังคมวิทยา สาขาวิชาสังคมวิทยามีประโยชน์ต่อนักรัฐประศาสนศาสตร์ก็คือ เป็นการศึกษาถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการบริหารภาครัฐ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจและทำการศึกษาเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมเพราะขนบธรรมเนียมประเพณีมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมอย่างยิ่งถ้าหากทางราชการได้ละเลยในส่วนนี้แล้ว อาจส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมของรัฐไม่ประสบความสำเร็จได้ นอกจากนี้แล้ว วิชาสังคมวิทยายังสามารถอธิบายถึงรูปแบบการบริหารงานภายในหน่วยงานราชการได้ ในการออกแบบของรูปแบบการบริหารงานภายในหน่วยงานราชการ ผู้บริหารจำเป็นต้องศึกษาถึงวัฒนธรรมหรือประเพณีภายในหน่วยงานนั้น ๆ ก่อน เช่น การศึกษาถึงแบบแผนในการติดต่อสื่อสารของบุคคลภายในองค์การ การศึกษาถึงความเชื่อของผู้ปฏิบัติงานต่อผู้นำในองค์การ การทำความเข้าใจแบบนี้จะช่วยให้การบริหารงานภายในองค์การมีความสงบและความเรียบร้อย อุทัย เลาหวิเชียร (2543, หน้า 38-42) เห็นว่า ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มีดังต่อไปนี้
             1. การเมืองและนโยบายสาธารณะ โดยมีสาระสำคัญครอบคลุม 3 เรื่องด้วยกัน คือ
                1.1 ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับการบริหาร
                1.2 นโยบายสาธารณะ
                1.3 ค่านิยม
             กรณีความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับการบริหารนั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงการนำปัจจัยการเมืองเข้ามาพิจารณาประกอบ เนื่องจากลักษณะเฉพาะของการบริหารรัฐกิจจะต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับระบบย่อยของระบบการเมือง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายบริหาร ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับฝ่ายบริหาร ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์กับฝ่ายบริหาร ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำ เป็นต้น
             กรณีประเด็นนโยบายสาธารณะ ก็คือ การศึกษากระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อนำไปสู่การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การประเมินผลนโยบายหรือการวิเคราะห์ข้อมูลป้อนกลับที่มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบาย และรวมถึงการศึกษาในเรื่องของ“ค่านิยม” เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางตัดสินใจ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักบริหาร
             โดยมีค่านิยมที่สำคัญ ๆ เช่น ประสิทธิภาพ ประโยชน์สาธารณะ คุณธรรมของนักบริหารจริยธรรม ประชาธิปไตย ความเสมอภาคทางสังคม ความรับผิดชอบ การตอบสนองความต้องการของประชาชน ความซื่อสัตย์สุจริต และการรักษาความลับของทางราชการ เป็นต้น
             2. ทฤษฎีองค์การ โดยถือเป็นวิชาที่ต้องอาศัยความรู้จากพฤติกรรมศาสตร์ซึ่งหมายถึง การมีวิชาสังคมวิทยา จิตวิทยาสังคม และมานุษยวิทยาเป็นวิชาพื้นฐาน ทั้งนี้กรอบทฤษฎีองค์การสามารถแยกออกได้เป็นกลุ่มทฤษฎีใหญ่ 3 กลุ่ม คือ
                2.1 กลุ่มทฤษฎีที่อาศัยการใช้หลักเหตุผล ซึ่งประกอบไปด้วย สำนักองค์การขนาดใหญ่ที่มีแบบแผน และสำนักกระบวนการบริหารและการใช้เกณฑ์ในการบริหารรวมถึงสำนักการวินิจฉัยสั่งการ โดยกลุ่มนี้อาศัยโครงสร้างและความเป็นเหตุเป็นผล
                2.2 กลุ่มทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมของคน ซึ่งประกอบไปด้วย สำนักมนุษย์สัมพันธ์และสำนักมนุษย์นิยม ทั้งสองสำนักนี้เน้นความสำคัญของตัวแปรที่เกี่ยวข้องในปัจจัยเรื่องของ “คน”
                2.3 กลุ่มทฤษฎีระบบเปิด ซึ่งประกอบไปด้วย สำนักระบบ และสำนักทฤษฎีสถานการณ์ โดยในสำนักนี้เน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างองค์การ
กับสิ่งแวดล้อมและความสัมพันธ์ของระบบย่อยต่าง ๆ เป็นต้น
             3. เทคนิคการบริหาร เทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ในการบริหารรัฐกิจส่วนหนึ่งมาจากวิทยาการจัดการ(management science) โดยทั่วไปเป็นเทคนิคที่อาศัยคณิตศาสตร์ สถิติเศรษฐศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นเทคนิคที่ไม่มีเรื่องคนเข้ามาเกี่ยวข้อง มีความเป็นวิทยาศาสตร์สูง เช่น การวิจัยปฏิบัติการ (operations research) การวิเคราะห์ระบบ (systems analysis) การวิเคราะห์ข่ายงาน (network analysis) การวินิจฉัยสั่งการ (decision-making) ทฤษฎีเกี่ยวกับคิว (Queing theory) สถานการณ์จำลอง (simulation) การวิเคราะห์ต้นทุนและกำไร (cost-benefit analysis) เป็นต้น
             วรเดช จันทรศร (2538, หน้า 7-9) เห็นว่า ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มีดังต่อไปนี้
             1. วิชาวิทยาการจัดการ โดยถือเป็นวิชาที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์เพื่อใช้วิเคราะห์และควบคุมการทำงานให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพโดยเน้นเทคนิคต่าง ๆ เช่น (operations research) การวิเคราะห์ระบบ (systems analysis) การวิเคราะห์ข่ายงาน (network analysis) การวินิจฉัยสั่งการ (decision-making) เป็นต้น
             2. วิชาพฤติกรรมองค์การ เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีองค์การ และมนุษย์พฤติกรรม โดยพิจารณาตัวแปร 4 ตัว ดังนี้ (1) บุคคล (2) ระบบสังคมขององค์การ (3) องค์การอรูปนัย และ (4) สภาพแวดล้อม โดยมีจุดเน้นที่การศึกษาปัญหาในระบบราชการเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง พัฒนาองค์การอย่างมีแบบแผน
             3. วิชาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ และการบริหารการพัฒนา การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ คือ การศึกษาการบริหารภาครัฐบนพื้นฐานของการเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเน้นด้านพฤติกรรมหรือกิจกรรมของรัฐในแง่ต่าง ๆ รวมถึงวัฒนธรรมหรือปรากฏการณ์ทางการบริหาร
             ในขณะที่การบริหารการพัฒนา เป็นการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า หรือเป็นเรื่องของการบริหารนโยบาย แผนงาน และโครงการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนา โดยเน้นการเปลี่ยนแปลง ผลลัพธ์ ความสามารถในการวัด การมีส่วนร่วม และความสัมพันธ์เป็นหลัก
             4. วิชาวิเคราะห์นโยบายสาธารณะโดยมีขอบข่ายในองค์ประกอบทั้ง 4 ด้าน คือ
                4.1 การกำหนดนโยบาย โดยวิเคราะห์ 2 แนวทาง คือ
                   4.1.1 หลักเหตุผล (rational comprehensive analysis)
                   4.1.2 แบบปรับส่วน (incremental analysis)
                4.2 การนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยศึกษากลไกสำคัญในการทำให้นโยบายบรรลุเป้าหมาย
                4.3 การประเมินผลนโยบาย โดยนำข้อมูลไปพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขนโยบายต่อ ๆ ไป
                4.4 การวิเคราะห์ผลสะท้อนกลับของนโยบาย
             5. วิชาทางเลือกสาธารณะ ในความหมายอย่างกว้าง เป็นการนำหลักเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการศึกษาการวินิจฉัยสั่งการในภาครัฐ ในความหมายอย่างแคบ คือ วิชาที่มุ่งเอาความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของตลาดอธิบายถึงพฤติกรรมการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในส่วนของภาครัฐ ตลอดจนมุ่งที่จะนำกลไกตลาดมาปรับปรุง เพื่อให้การตัดสินใจภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ขอบข่ายของวิชาดังกล่าว ครอบคลุมการศึกษา 3 เรื่อง คือ
                5.1 พฤติกรรมของกลุ่มผลประโยชน์
                5.2 พฤติกรรมของหน่วยงานในการให้บริการสาธารณะ
                5.3 การแสวงหาวิธีการทางการบริหาร หรือโครงสร้างที่เหมาะสมสำหรับการให้บริการสาธารณะ
ความพยายามในการนำเอาศาสตร์ต่าง ๆ มาอธิบายโดยบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและทำให้เกิดความครอบคลุมทางการบริหารจึงเป็นส่วนสำคัญในการทำให้รัฐประศาสนศาสตร์มีความเป็นสหวิทยาการสูง ซึ่งลักษณะดังกล่าวสามารถอธิบายได้

บรรณานุกรม

ยุทธพงษ์ ลีลากิจไพศาล. (2552). พัฒนาการและลักษณะของหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ระดับปริญญาตรีในประเทศไทย. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

กมล อดุลพันธ์. (2538). การบริหารรัฐกิจเบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อุทัย เลาหวิเชียร. (2543). รัฐประศาสนศาสตร์: ลักษณะวิชาและมิติต่าง ๆ (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ที พี เอ็น เพรส.

วรเดช จันทรศร. (2538). รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฎีและการประยุกต์ (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วัดหนองโว้ง(พระอารามหลวง)

วัดหนองโว้ง(พระอารามหลวง)
ตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

พระวิสัน (พธบ./รปม)

รูปแบบ การวิจัย โดย ผศ.(พิเศษ) นภดล สุชาติ พ.บ M.P.H

อ้างอิงจาก http://www.slideshare.net/guest9e1b8/9-presentation-948269

South East Asia University

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ตัวแบบนโยบายสาธารณะสมัยใหม่

กิจกรรมดูงานเชื่อมสายสัมพันธ์ MPA12and MPA13

Download

เสียงปลง

Nonstop - I'm The Sexy Girl - DJ Back Up