วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555


มาร์กซ ท่ามกลางการปฎิวัติยุโรป
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ผลกระทบสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ในเยอรมนี คือ การเฟื่องฟูอย่างมากของหนังสือพิมพ์ หลังจากที่รัฐบาลแทบทุกแคว้นต่างก็ถูกบีบให้เลิกการเซ็นเซอร์ ปรากฏว่าในเขตไรน์แลนด์มีหนังสือพิมพ์ใหม่ออกเผยแพร่ถึง ๗๐ ฉบับ ใน ๑ ปี ซึ่งในจำนวนนี้ ฉบับหนึ่งคือหนังสือพิมพ์ที่มาร์กซเป็นบรรณาธิการ เพราะเป็นความตั้งใจแต่เดิมของมาร์กซ ที่จะจัดตั้งหนังสือพิมพ์ก้าวหน้า เพื่อสนับสนุนและโฆษณาการปฏิวัติ แต่ปัญหาเรื่องการระดมทุนยังเป็นประเด็นหลัก
ในที่สุดมาร์กซก็สามารถรวบรวมเงินได้จำนวนหนึ่ง และต้องนำเงินส่วนตัวของเขามาสบทบเพื่อผลักดันหนังสือพิมพ์ที่ชื่อว่า นิวไรน์ (Neue Rheinische Zeitung) หนังสือพิมพ์นี้ก็ออกเผยแพร่ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.๑๘๔๘ และตั้งแต่ฉบับแรกก็มีลักษณะเป็นหนังสือพิมพ์ระดับชาติยิ่งกว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นโคโลญ ในหนังสือพิมพ์นี้มาร์กซจะเสนอบทความและความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิวัติในเยอรมนี ส่วนเองเกลส์จะรับผิดชอบรายงานถึงความคืบหน้าของการปฏิวัติในฝรั่งเศสและอังกฤษสำหรับคนอื่นในกองบรรณาธิการ ก็เช่น เอิร์นสก์ ดรองเก วิลเฮล์ม วอลฟ์ (Wilhelm Wolff) ไฮน์ริค เบอร์เกอร์ส (Heinrich Burgers) เป็นต้น เนื่องจากความเร่งด่วนของสถานการณ์ จึงปรากฏว่าหนังสือพิมพ์นี้จะเป็นเรื่องการรายงานความคืบหน้าของการปฏิวัติเสียยิ่งกว่าเป็นหนังสือชี้นำในเชิงทฤษฎีแต่กระนั้น นิวไรน์ก็กลายเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายสังคมนิยมที่มีบทบาทมากที่สุดท่ามกลางการปฏิวัติในเยอรมนี
คำขวัญของหนังสือพิมพ์นิวไรน์คือ “สื่อแห่งประชาธิปไตย” ซึ่งได้เรียกร้องให้มีการสร้างแนวร่วมอย่างกว้างของพลังประชาธิปไตยทั้งมวลเพื่อการปฏิวัติ สำหรับมาร์กซเองก็แสดงการสนับสนุนสโมสรประชาธิปไตยแห่ง เมืองโคโลญ มาร์กซเห็นว่าบทบาทของชนชั้นกรรมาชีพในขณะนี้ คือการ สนับสนุนการปฏิวัติของชนชั้นกระฎุมพีที่ก้าวหน้า ดังนั้น นิวไรน์จึงมิได้เสนอแนวทางแห่งลัทธิสังคมนิยม หากแต่สนับสนุนให้มีรัฐสภา การเลือกตั้งทั่วไปสิทธิทางการเมืองของประชาชนและเสนอให้ยกเลิกพันธะแบบศักดินาทั้งหมด
ในทางเศรษฐกิจนิวไรน์ได้เสนอให้มีการตั้งธนาคารชาติเพื่อควบคุมการเงิน ให้ประกันการว่างงานโดยไม่ได้แตะต้องเรื่องกรรมสิทธิเอกชน ความต้องการของมาร์กซในขณะนี้ จึงเป็นการปฏิวัติเพื่อสถาปนารัฐกระฎุมพี ที่อาจจะมีการให้สิทธิบางประการแก่กรรมกรและชาวนา มาร์กซเห็นว่า ชนชั้นกรรมกรเยอรมนีควรจะรวมตัวกันตั้งองค์กรในระดับทั่วประเทศสร้างความ เข้มแข็งของขบวนการ แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแยกตนเองจากพันธมิตรนั่นคือจะต้องสนับสนุนการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนให้ลุล่วงไปด้วยดี
เมื่อมาร์กซและสมาชิกสันนิบาติคอมมิวนิสต์อื่น ๆ กลับเข้ามาในเขตเยอรมนี เขาหวังว่าจะเกิดกระแสการปฏิวัติแบบฝรั่งเศสที่จะนำมาสู่การโค่นอำนาจของกษัตริย์และเจ้าขุนมูลนายลง แต่ปรากฏว่า การปฏิวัติที่เกิดขึ้นในเยอรมนีกลับกลายเป็นกระแสสนับสนุนกษัตริย์แคว้นต่าง ๆ ที่จะรวมเยอรมนี เพียงแต่จะมุ่งลดอำนาจของจักรพรรดิออสเตรียเท่านั้น มีเพียงที่แคว้นบาเดนแห่งเดียวที่กลุ่มนิยมสาธารณรัฐลุกฮือขึ้น เพื่อโค่นล้มระบอบกษัตริย์ แต่ก็ถูกปราบลงได้ สาเหตุที่การปฏิวัติเพื่อโค่นกษัตริย์กระแสไม่สูงในเยอรมนี ก็เป็นเพราะอำนาจของชนชั้นขุนนาง เจ้าที่ดิน และอภิสิทธิชนยังคงมั่นคง ชนชั้นกลางของเยอรมันยังไม่เข้มแข็งเท่าชนชั้นกลางฝรั่งเศส ที่สามารถปฏิวัติโค่นกษัตริย์ลงได้ และยังไม่เท่าชนชั้นกลางอังกฤษ ที่จะสถาปนาระบอบรัฐสภาได้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะในจักรวรรดิออสเตรียระบบทาสกสิกรก็ยังคงอยู่ ชนชั้นขุนนางเจ้าที่ดินมีอำนาจอย่างมาก ในแคว้นปรัสเซียซึ่งเป็นรัฐเยอรมนีที่ใหญ่ที่สุดก็ยังคงมีระบอบทาสกสิกรเช่นกัน ดังนั้น ชนชั้นขุนนางเจ้าที่ดิน ที่เรียกว่า จุงเกอร์ (Junkers) ยังคงรักษาอำนาจไว้ได้โดยการสนับสนุนกษัตริย์เฟรเดอริกวิลเฮล์มที่ ๔ และต่อต้านสภา แห่งชาติแฟรงเฟริต การปฏิวัติชนชั้นกลางที่เกิดในปรัสเซียที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๘๔๘ ทำให้กษัตริย์เฟรเดอริกวิลเฮล์ม ต้องยอมประกาศที่จะสนับสนุนการรวมเยอรมนี และตั้งให้รูดอล์ฟ แคมป์เฮาเสน (Rudolf Camphausen) ผู้นำฝ่ายเสรีนิยม เป็นอัครเสนาบดี และยอมตั้งสภาแห่งชาติปรัสเซีย เพื่อร่างรัฐธรรมนูญและทำหน้าที่นิติบัญญัติ แต่แคมป์เฮาเสนก็ประนีประนอมกับฝ่ายปฏิกิริยา โดยไม่แตะต้องผลประโยชน์ของชนชั้นเจ้าที่ดิน ไม่มีมาตรการที่จะยกเลิกระบอบทาสกสิกรและปลดปล่อยชาวนา ดังนั้น สมาชิกสภาที่ได้รับเลือกมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.๑๘๔๘ แม้ว่าจะมีกลุ่มที่ก้าวหน้าและสนับสนุนประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่ก็มีพวกขุนนาง พวกอภิสิทธิ์ชน และพวกจุงเกอร์ จำนวนไม่น้อย
เมื่อเป็นเช่นนี้กลุ่มเสรีนิยมพยายามจะก่อการปฏิวัติอีกครั้งในกรุงเบอร์ลิน เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.๑๘๔๘ แต่การก่อการครั้งนี้ไม่สำเร็จ และกลับทำให้กษัตริย์เฟรเดอริกวิลเฮล์มได้โอกาสถอดแคมป์เฮาเสนจากตำแหน่ง ในหนังสือพิมพ์นิวไรน์ มาร์กซได้เสนอเรื่องนี้ไว้ว่า สถานการณ์ทางการเมืองหลังการปฏิวัตินั้น รัฐบาลใหม่จะต้องกล้าใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อกวาดล้างสถาบันเก่า และขัดขวางการฟื้นอำนาจของพวกนิยมระบอบเก่า แต่แคมป์เฮาเสนกลับไม่ดำเนินการแต่อย่างใด จึงทำให้พลังต่อต้านปฏิวัติสามารถฟื้นตัว
นอกจากนี้ มาร์กซยังได้เสนอด้วยว่า ชนชั้นกระฎุมพีเยอรมันจะต้องช่วยเหลือและปลดปล่อยชนชั้นชาวนา จึงจะได้ชาวนามาเป็นมิตรในการโค่นอำนาจของศักดินา และมาร์กซได้เสนอข้อเสนอต่อสภาแห่งชาติแฟรง เฟริตว่า ไม่อาจจะรอคอยฝากความหวังที่จะให้เกิด “สาธารณรัฐเยอรมนี” ที่เป็นเอกภาพ แต่จะต้องมีการตั้งพรรคการเมืองที่ก้าวหน้าเพื่อดำเนินการมอบอำนาจให้ประชาชน และตระเตรียมที่จะต้องทำสงครามปฏิวัติกับรุสเซีย เพราะการที่จะดำเนินการปฏิวัติให้ก้าวหน้าต่อไป จะต้องทำสงครามปฏิวัติกับพระเจ้าซาร์แห่งรุสเซีย ซึ่งเป็นแกนหลักในการรักษาระบอบเก่าแห่งยุโรป มิฉะนั้นแล้ว การปฏิวัติในเยอรมนีจะต้องประสบความพ่ายแพ้ เองเกลส์ได้เสนอในเรื่องนี้ว่า การเผยแพร่การปฏิวัติสู่รุสเซีย หรืออย่างน้อยก็ให้มีการสถาปนารัฐประชาธิปไตยในโปแลนด์ จะเป็นหลักประกันแก่ประชาธิปไตยเยอรมนี
ความจริงข้อเสนอให้ผลักดันการทำสงครามกับรุสเซียนั้น ได้รับการเห็นพ้องไม่น้อยจากพวกเสรีนิยม แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลปรัสเซีย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความไม่แน่ใจในแสนยานุภาพว่า ปรัสเซีย จะสามารถเอาชนะรุสเซียได้ แต่เหตุผลที่มากกว่านั้น น่าจะเป็นเพราะกษัตริย์ปรัสเซียและชนชั้นเจ้าที่ดินยังเห็นรุสเซียเป็นภัยที่คุกคามสถานะเดิมของตนน้อยกว่าการปฏิวัติที่กำลังดำเนินอยู่
ประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศประการหนึ่งที่ดำรงอยู่ก็คือ ในระหว่างการปฏิวัติ กรณีแคว้นชเลสวิก-โฮลสไตน์ ซึ่งเป็นรัฐเยอรมันตอนเหนือที่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์เดนมาร์ก แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติในดินแดนเยอรมนี กลุ่มเสรีนิยมในแคว้นชเลสวิก-โฮลสไตน์ก็ก่อการปฏิวัติสลัดอำนาจของกษัตริย์เดนมาร์ก และเรียกร้องต้องการรวมเข้ากับเยอรมนี โดยส่งตัวแทนเข้าประชุมสภาแห่งชาติแฟรงเฟริตด้วย แต่ปรากฏว่ากษัตริย์เดนมาร์คไม่ยินยอมจึงส่งทหารเข้าปราบ สถานการณ์นี้บีบให้ปรัสเซียต้องส่งทหารเข้าช่วยเหลือ จึงกลายเป็นสงครามระหว่างปรัสเซียกับเดนมาร์ค สภาแห่งชาติแฟรงเฟริตให้การสนับสนุนแก่กษัตริย์ปรัสเซีย แต่ปรากฏว่า รุสเซียและอังกฤษกลับให้ความสนับสนุนกับเดนมาร์กจึงทำให้การสู้รบยืดเยื้อ
ต่อมา ราวกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ.๑๘๔๘ ตัวแทนจากองค์กรประชาธิปไตยทั่วดินแดนเยอรมนี ได้เปิดประชุมสภาแห่งชาติที่เมืองแฟรงเฟริต ประกาศยืนยันให้มีการรวมเยอรมันในระบอบประชาธิปไตย โดยสนับสนุนกษัตริย์ปรัสเซียเป็นกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ ได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการกลางที่กรุงเบอร์ลิน โดยมี เฮอร์มาน ครีจ วิลเฮล์ม เวทลิง และ อาร์โนลด์ รูเก เป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย
แม้ว่ารากฐานของสภาแห่งชาติในรัฐเยอรมันต่าง ๆ ยังไม่มั่นคงนัก แต่สำหรับในเขตไรน์แลนด์ ซึ่งมีพื้นฐานชนชั้นกลางที่มั่นคงกว่าในเขตอื่น ๆ กระแสประชาธิปไตยยังเฟื่องฟูต่อไป ที่เมืองโคโลญ องค์กรเคลื่อนไหว ๓ องค์กร คือ สมาคมกรรมกร สโมสรประชาธิปไตย และ สหภาพนายจ้างและลูกจ้าง ได้ร่วมมือกันส่งตัวแทนไปร่วมประชุมที่แฟรงเฟริต ซึ่งผู้มีบทบาทในระยะแรกคือ อันดรีส กอตต์ชอลก์ แต่ต่อมา ผู้นำสมาคมกรรมกร คือ โจเซฟ มอลล์ (Joseph Moll) และ คาร์ล แชปเปอร์ (Karl Schapper) อดีตผู้นำสันนิบาตเพื่อความเป็นธรรม มอลล์เคยป็นช่างทำนาฬิกา ก่อนที่จะตื่นตัวร่วมการเคลื่อนไหวปฏิวัติ ส่วน แชปเปอร์ เป็นนักปฏิวัติรุ่นอาวุโสจากเมืองนัสเซา สำหรับมาร์กซก็ได้กลายเป็นผู้นำสำคัญอีกคนหนึ่งในฐานะตัวแทนของสโมสรประชาธิปไตย สำหรับผู้แทนของสหภาพนายจ้างและลูกจ้าง คือ เฮอร์มาน เบกเกอร์(Hermann Becker)
ในการประชุมร่วมของตัวแทนสามองค์กร ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ได้ตกลงให้มีการเรียกประชุมสมัชชาประชาธิปไตยของเขตไรน์แลนด์ขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการปลุกระดมในหมู่กรรมกร และชาวนาให้สนับสนุนการปฏิวัติ มาร์กซเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมากในการผลักดันนโยบายนี้เขาจึงได้รับเลือกให้เป็นกรรมการสมัชชาประชาธิปไตยของเขตไรน์แลนด์ ในระหว่างนี้ มาร์กซได้แสดงความเห็นคัดค้านข้อเสนอของวิลเฮล์ม เวทลิง ซึ่งเป็นปัญญาชนปรัสเซีย ที่ลี้ภัยไปอยู่สหรัฐ และกลับมาในช่วงแรกของการปฏิวัติ เวทลิงมีบทบาทอย่างมากที่เบอร์ลิน และเขาได้เรียกร้องให้สถาปนาอำนาจเผด็จการขึ้นรักษาดอกผลการปฏิวัติ เพราะหากปล่อยให้เป็นประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งความวุ่นวาย มาร์กซเสนอความเห็นตรงข้ามว่า ถ้าหากมีการสถาปนาเผด็จการ จะไม่สามารถระดมการ สนับสนุนจากประชาชนได้ ซึ่งที่ถูกต้องคือจะต้องมีรัฐบาลประชาธิปไตยที่ประสานความเห็นของฝ่ายต่างๆ มาผลักดันให้เป็นนโยบาย
แม้ว่า หนังสือพิมพ์นิวไรน์ของมาร์กซจะเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง และมียอดขายถึง ๕๐๐๐ ฉบับในเดือนมิถุนายน ค.ศ.๑๘๔๘ ซึ่งนับว่าสูงมาก แต่ปัญหาเรื่องทุนดำเนินงานเป็นประเด็นหลัก รายได้จากยอดขายนั้นไม่พอเพียงที่จะทำให้หนังสือพิมพ์ดำเนินการต่อไป ในเดือนกรกฎาคม โรงพิมพ์ได้ปฏิเสธที่จะพิมพ์หนังสือพิมพ์นี้ต่อไป ถ้าหากมาร์กซไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ที่ค้างชำระ ทำให้การออกหนังสือชะงักไปเล่มหนึ่ง ก่อนที่มาร์กซจะหาโรงพิมพ์ใหม่ที่จะรับพิมพ์ นอกจากนี้มาร์กซยังประสบปัญหาส่วนตัว จากการที่ทางการตำรวจโคโลญไม่ยอมคืนสัญชาติปรัสเซียแก่มาร์กซ ซึ่งหมายถึงว่า มาร์กซจะต้องอยู่ในฐานะคนต่างชาติที่อาจจะถูกขับออกจากดินแดนปรัสเซียได้ทันที จนถึงปลายเดือนสิงหาคม มาร์กซจึงตัดสินใจที่จะเดินทางไปยังกรุงเบอร์ลินและกรุงเวียนนาเพื่อพบกับผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตยคนอื่นๆ และเพื่อหาทางระดมทุนมาทำหนังสือต่อไป
มาร์กซมาถึงกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของปรัสเซีย และพักอยู่ที่นั่น ๒ วัน เขาได้พบกับคาร์ล คืปเปน เพื่อนเก่าที่เคยอยู่ในกลุ่มยุวชนลัทธิเฮเกล จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังเวียนนา เมืองหลวงของจักรวรรดิออสเตรีย พักอยู่ ๒ สัปดาห์ และได้เข้าร่วมการประชุมของสมาคมประชาธิปไตยในเวียนนา ในขณะนั้น สมาคมประชาธิปไตยเวียนนา กำลังเตรียมยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการลาออก แต่ปัญหาที่ถกเถียงกันคือ จะยื่นข้อเสนอนี้กับใคร กับรัฐสภา หรือยื่นต่อจักรพรรดิออสเตรีย มาร์กซเปลี่ยนเป้าหมายโดยเสนอว่า การเสนอข้อเรียกร้องต่อจักรพรรดิหรือสภายังไม่ถูกเป้าหมาย เพราะ "อำนาจที่สำคัญที่สุดนั้นถูกลืมไปนั่นคือ ประชาชน" มาร์กซเสนอว่า สมาคมประชาธิปไตยเวียนนาควรผลักดันโดยผ่านการเคลื่อนไหวประชาชน อาจจะผ่านหนังสือพิมพ์หรือนำเสนอโดยการชุมนุมประชาชน นอกจากนี้ มาร์กซ ยังได้รับเชิญให้ไปบรรยายในหัวข้อ "ค่าจ้างแรงงานและทุน" หลังจากนั้น มาร์กซก็เดินทางกลับมายังกรุงเบอร์ลินอีกครั้ง เข้าร่วมประชุมสภาของ ปรัสเซีย และพบกับสมาคมปฏิวัติโปแลนด์ ซึ่งสนับสนุนเงินจำนวนหนึ่งแก่มาร์กซในการจัดทำนิวไรน์ นอกจากนี้ มาร์กซยังสามารถรวบรวมเงินได้อีกจำนวนหนึ่งที่จะนำมาทำหนังสือต่อไปด้วย แต่ปรากฏว่าสถานการณ์ในปรัสเซียเมื่อต้นเดือนกันยายนเริ่มตึงเครียด มาร์กซจึงตัดสินใจรีบเดินทางกลับมายังเมืองโคโลญ
วันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ.๑๘๔๘ มาร์กซกลับมาถึงเมืองโคโลญ ในขณะนั้นเหตุการณ์ระหว่างฝ่ายปฏิวัติประชาธิปไตยกับทางการรัฐบาลปรัสเซีย กำลังตึงเครียด รัฐบาลปรัสเซียได้ส่งทหารเข้ามาตั้งในโคโลญ ซึ่งส่วนมากเป็นทหารที่มาจากเขตปรัสเซียตะวันออกอันเป็นเขตที่อนุรักษ์นิยมและยึดมั่นต่อกษัตริย์ปรัสเซียมากที่สุด ในระยะที่มาร์กซกลับมาโคโลญ ได้เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายทหารและประชาชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน กลุ่มประชาธิปไตยในโคโลญจึงได้เรียกชุมนุมในวันที่ ๑๓ กันยายน เพื่อทำพิธีไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต จากนั้นได้มีการยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ทางการปรัสเซียเพื่อให้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ และมุ่งผลักดันรัฐเยอรมันต่างๆ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยมุ่งสู่การรวมเยอรมนี นอกจากนี้ยังคัดค้านรัฐบาลปรัสเซียที่ยอมสงบศึกกับกษัตริย์เดนมาร์กในกรณีแคว้นชเลสวิก-โฮลสไตน์ โดยยอมให้แคว้นทั้งสองยังตกเป็นของเดนมาร์กเช่นเดิม ซึ่งเป็นเครื่องชี้ว่า รัฐบาลปรัสเซียหักหลังกลุ่มเสรีนิยมในแคว้นชเลสวิก-โฮลสไตน์ และประนีประนอมกับรุสเซีย ที่ต้องการรักษาสถานะเดิมของยุโรป ปรากฏว่าที่ชุมชุม ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อความปลอดภัยสาธารณะขึ้นมาเป็นตัวแทนประชาชนจำนวน ๓๐ คน ซึ่งมาร์กซก็ได้รับเลือกในกรรมการชุดนี้ด้วย ต่อมาคณะกรรมการนี้ได้เลือกคณะกรรมการดำเนินงาน ๕ คน โดยมีเฮอร์มาน เบกเกอร์เป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้ได้ส่งหนังสือไปยังรัฐสภาของปรัสเซีย ให้ยืนหยัดต้านกระแสโต้การปฏิวัติของฝ่ายอนุรักษ์ และกระแสปราบปรามของฝ่ายรัฐ นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้เรียกชุมนุมประชาชนในวันที่ ๑๗ กันยายน เพื่อแสดงการสนับสนุนสภาแห่งชาติแฟรงเฟริต ซึ่งมีประชาชนมาเข้าร่วมนับหมื่นคน แต่ปรากฏว่า ในระยะเดือนกันยายนนี้กระแสปฏิกิริยาเริ่มทำการรุกกลับที่จะปราบปรามการปฏิวัติ
การรุกกลับของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และต่อต้านการปฏิวัติได้เริ่มต้นมาก่อนแล้ว กษัตริย์ปรัสเซียได้เปลี่ยนรัฐบาลจากเสรีนิยม มาสู่รัฐบาลอนุรักษ์นิยมมากยิ่งขึ้นและเริ่มปราบปราม ดังนั้นเมื่อสมัชชาประชาธิปไตยแห่งไรน์แลนด์ ได้เตรียมการที่จะนัดประชุมในวันที่ ๒๕ กันยายน ปรากฏว่า เช้าวันนั้น กลุ่มผู้นำสมัชชาถูกจับกุมเสียก่อน ซึ่งผู้ถูกจับกุมก็เช่น เบกเกอร์ และ แชปเปอร์ ส่วนมอลล์หนีรอดได้อย่างหวุดหวิด หลังจากนั้น รัฐบาลได้ออกหมายจับอีกหลายคน รวมทั้ง วอลฟ์ ดรองเก เบอร์เกอร์ และ เองเกลส์ด้วย ในข้อหาที่ทางการทหารโคโลญตั้งก็คือ บ่อนทำลายความมั่นคงและเป็นกบฎต่อรัฐปรัสเซีย แต่มาร์กซไม่ได้ถูกออกหมายจับ เพราะในระยะนั้น มาร์กซไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะ ในการประชุมของสโสมรประชาธิปไตย ในเวลาบ่ายของวันที่ ๒๕ กันยายน ได้มีมติให้เลี่ยงการเผชิญหน้ากับฝ่ายทหารเพื่อรักษากำลัง เพราะเย็นวันนั้นเอง ทางการโคโลญก็ประกาศกฎอัยการศึก และสั่งห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งสั่งปิดหนังสือพิมพ์นิวไรน์ด้วย มาร์กซจึงเตรียมการที่จะย้ายฐานของหนังสือพิมพ์ไปยังเมืองดุสเซนดอฟฟ์ ซึ่งเป็นอีกเมืองหนึ่งในเขตไรน์แลนด์ ที่กลุ่มปฏิวัติยังคงมีบทบาทอยู่
แต่กระนั้น ทางการทหารโคโลญก็รักษากฎอัยการศึกไว้ได้เพียงสัปดาห์เดียว เพราะไม่ได้รับการยอมรับจากสภาแห่งชาติปรัสเซียที่กรุงเบอร์ลินซึ่งกลุ่มเสรีนิยมยังคงมีบทบาทนำ และแม้แต่สภาเมืองโคโลญก็ไม่ให้การรับรอง ดังนั้นในวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ.๑๘๔๘ กฎอัยการศึกจึงถูกยกเลิก หนังสือพิมพ์นิวไรน์ ได้รับการอนุญาตให้ออกเผยแพร่ได้ใหม่ แต่กระนั้น มาร์กซก็ประสบปัญหาเงินทุนดำเนินการอีกครั้ง จึงยังไม่อาจออกหนังสือตามกำหนดได้ จึงต้องนำเงินส่วนตัวและเงินของเจนนีมาใช้เพื่อออกหนังสือพิมพ์ต่อไป ซึ่งเป็นฉบับวันที่ ๑๓ ตุลาคม ปรากฏว่า หนังสือพิมพ์ก็ยังออกทันการรายงานข่าวการปฏิวัติละรอกที่สองในกรุงเวียนนา เมื่อกลุ่มเสรีนิยมยึดอำนาจอีกครั้งจนทำให้จักรพรรดิต้องหนีออกจากเมืองไปลี้ภัยที่เมืองออลมุกในแคว้นโมราเวีย แต่กระนั้น การรุกของฝ่ายประชาธิปไตยในเวียนนาครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะเมืองต่างๆ ในจักรวรรดิออสเตรียมิได้ก่อการลุกขึ้นสู้สนับสนุน ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมและพวกขุนนางเริ่มตั้งตัวและรวมตัวกันสนับสนุนจักรพรรดิ ซึ่งจะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กระแสการเมืองพลิกกลับไปสู่การถดถอยของการปฏิวัติ และการฟื้นตัวของพลังอำนาจเก่าในระยะต่อมา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วัดหนองโว้ง(พระอารามหลวง)

วัดหนองโว้ง(พระอารามหลวง)
ตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

พระวิสัน (พธบ./รปม)

รูปแบบ การวิจัย โดย ผศ.(พิเศษ) นภดล สุชาติ พ.บ M.P.H

อ้างอิงจาก http://www.slideshare.net/guest9e1b8/9-presentation-948269

South East Asia University

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ตัวแบบนโยบายสาธารณะสมัยใหม่

กิจกรรมดูงานเชื่อมสายสัมพันธ์ MPA12and MPA13

Download

เสียงปลง

Nonstop - I'm The Sexy Girl - DJ Back Up